ดินแดนส่วนที่เป็นจังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน
ได้ปรากฏหลักฐานแห่งการอยู่อาศัยของ
มนุษย์มานานนับพันปี
ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือก่อนที่มนุษย์จะมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้
เริ่มจากการดำรงชีวิตแบบเร่รอนในสังคมล่าสัตว์ ที่มนุษย์อาศัยอยู่ตามถ้ำ
เพิงผาหรือริมฝั่งน้ำ แสวงหาอาหารด้วยการจับปลา ล่าสัตว์
และพืชผักที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เร่ร่อนเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆ
หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นได้แก่ ภาพเขียนสี และภาพสลักหินในเขตอำเภอโนนสังที่ถ้ำเสือตก
ถ้ำจันใดถ้ำพรานไอ้ ถ้ำอาจารย์สิน และถ้ำยิ้ม หรือภาพเขียนสี ในเขตอำเภอสุวรรณคูหา
ที่ถ้ำสุวรรณคูหาและ ถ้ำภูผายา เป็นต้น
เรื่อยมาจนถึงการดำรงชีวิตในสังคมกสิกรรมที่มนุษย์เริ่มอยู่รวมกันเป็นชุมชน
มีการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า ทำเครื่องประดับ และหล่อโลหะแบบง่ายๆ
หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นได้แก่ แหล่งโบราณคดีกุดกวางสร้อย และกุดคอเมย
ในเขตอำเภอโนนสัง ซึ่งพบโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ เศษภาชนะดินเผา
เศษเครื่องประดับสำริด รวมทั้งเครื่องมือเหล็กต่างๆ
ที่มีอายุร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงจังหวัดอุดรธานี ชุมชนโบราณในลักษณะนี้มีปรากฏอยู่หลายแห่งในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู
เมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์
หรือเมื่อมนุษย์เริ่มมีอาการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ ชุมชนโบราณค่อยๆ
มีพัฒนาการเข้าสู่ชุมชนเมือง มีการติดต่อแลกเปลี่ยน ค้าขายระหว่างกัน วัฒนธรรม
แบบทวารวดีเข้ามามีอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐-
พ.ศ. ๑๕๐๐) ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู
พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เช่น ใบเสมาหินทราย วัดพระธาตุเมืองพิณ อำเภอนากลาง
และใบเสมาหินทรายวัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรณคูหา เป็นต้น เมื่อสิ้นสมัยทวารวดี
วัฒนธรรมขอมเริ่มเข้ามามีอิทธิพลสืบแทน (ประมาณ พ.ศ. ๑๕๐๐ - พ.ศ. ๑๗๐๐) ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู
พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุสมัยขอม เช่น ฐานวิหารศิลาแลง ศิลาจารึก พระธาตุเมืองพิณ อำเภอนากลาง
และจารึกอักษรขอมวัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรณคูหา เป็นต้น
จังสันนิษฐานว่า
ในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี และสมัยวัฒนธรรมขอม
ชุมชนโบราณในเขตพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ยังไม่มีลักษณะเป็นชุมชนเมือง
แต่คงเป็นชุมชนเล็กๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วไป เมื่อสิ้นสมัยวัฒนธรรมขอม
พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ปลอดจากอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ระยะหนึ่ง
และวัฒนธรรมล้านช้างหรือวัฒนธรรมไทย-ลาว
ได้เริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาแทน
ประมาณ
พ.ศ. ๒๑๐๖ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งเวียงจันทน์
ได้นำผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัย
โดยสร้างพระพุทธรูปและศิลาจารึกไว้ที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา อำเภอสุวรรณคูหา
และมาสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นที่บริเวณหนองซำช้าง
ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เชิงเขาภูพาน โดยสร้างวัดในหรือวัด
ศรีคูณเมือง
สร้างพระพุทธรูป และสร้างกู่ครอบไว้ สร้างวิหาร ขุดบ่อน้ำ
สร้างกำแพงเมืองดินล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน และยกฐานะขึ้นเป็นเมือง "จำปานครกาบแก้วบัวบาน" (ปัจจุบันอยู่ที่บริเวณบ้านเหนือ
ตำบลลำภู ในเขตเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู) มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเวียงจันทน์แต่คน
ทั่วไปมักนิยมเรียกชื่อเมืองตามลักษณะภูมิประเทศว่า
"เมืองหนองบัวลุ่มภู" ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเมืองหนองบัวลำภูในปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๑๑๗ ในระหว่างที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่
๑ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ ๑๙ พรรษา
ได้ตามเสด็จสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดา
นำกองทัพไทยเพื่อไปช่วยกองทัพกรุงหงสาวดีตีเวียงจันทน์
เมื่อเสด็จประทับพักแรมที่บริเวณหนองซำช้างหรือหนอง-บัวลำภูในปัจจุบัน
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประชวร เป็นไข้ทรพิษ สมเด็จพระมหาธรรมราชา
และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงเสด็จนำกองทัพไทย กลับสู่กรุงศรีอยุธยา
พ.ศ. ๒๓๑๐ ในสมัยพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์
ซึ่งตรงกับต้นสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี พระวอ พระตา
ขุนนางผู้ใหญ่แห่งเวียงจันทน์ เกิดความขัดแย้งภายในกับราชสำนัก
จึงนำกำลังคนอพยพเข้ามาอาศัยเมืองจำปานครกาบแก้วบัวบาน
โดยบูรณะและปรับปรุงขึ้นใหม่ สร้างกำแพงหินบนเขาภูพานไว้ป้องกันข้าศึก
และเปลี่ยนชื่อเป็น "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน"
ตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับเวียงจันทน์ กองทัพเวียงจันทน์
จึงยกทัพมาโจมตีสู้รบกันอยู่ประมาณ ๓ ปี ก็ยังไม่สามารถตีเมืองได้
กองทัพเวียงจันทน์จึงขอให้กองทัพพม่าช่วยเหลือ
จึงสามารถตีเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานได้สำเร็จ โดยพระตาเสียชีวิตในที่รบ
พระวอจึงนำกำลังคนอพยพตามลำน้ำชีไปสร้างเมืองใหม่ที่บ้านดอนมดแดง
หรือเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน
จึงกลับไปขึ้นกับเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. ๒๓๒๑ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
แห่งกรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
ยกกองทัพไปตีเวียงจันทน์ได้สำเร็จนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน หรือหนองบัวลำภู
จึงขึ้นกับราชอาณาจักรไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ระหว่าง
พ.ศ. ๒๓๖๙ - พ.ศ. ๒๓๗๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เป็นกบฏยกทัพไปยึดเมืองนครราชสีมา
ครั้นรู้ว่าทางกรุงเทพฯ เตรียมยกทัพใหญ่มาต่อสู้จึงถอยกลับมาตั้งรับที่หนองบัวลำภู
ได้รบกับกองทัพไทยเป็นสามารถ จนพ่ายแพ้กลับเวียงจันทน์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคาย
ได้แต่งตั้งพระวิชโยดมภมุทธเขต
มาสร้างนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานขึ้นใหม่มีฐานะเป็นเมืองเอก ชื่อเมือง "ภมุทธไสยบุรีรัมย์" หรือ "ภมุทาสัย" โดยมีพระวิชโยดม-ภมุทธเขต เป็นเจ้าเมืองคนแรก การปกครองเมืองในลักษณะนี้ เรียกว่า "ระบบกินเมือง"
พ.ศ. ๒๔๓๕
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตน-โกสินทร์ มีสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
ได้ปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคจากระบบกินเมือง
โดยรวมหัวเมืองเป็นมณฑลต่างๆ รวม ๖ มณฑล ได้แก่ มณฑลลาวเฉียง มณฑลลาวพวน
มณฑลลาวกาว มณฑลเขมร มณฑลลาวกลาง และมณฑลภูเก็ต มีข้าหลวงใหญ่ (เฉพาะมณฑลลาวพวนเรียกข้าหลวงต่างพระองค์) เป็นผู้รับผิดชอบมณฑล
เมืองกมุทาสัยถูกจัดเป็นหัวเมืองเอก ๑ ใน ๑๖ หัวเมือง ของมณฑลลาวพวน
ซึ่งในขณะนั้นมีกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เสนาบดีกระทรวงวังเป็นข้าหลวงต่างพระองค์
บัญชาการมณฑลลาวพวน
พ.ศ. ๒๔๓๗
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนแปลงการ
ปกครองหัวเมืองส่วนภูมิภาค
เป็นมณฑลเทศาภิบาลและเปลี่ยนตำแหน่งข้าหลวงใหญ่
หรือข้าหลวงต่างพระองค์เป็นสมุหเทศาภิบาล ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ. ๒๔๔๒
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อมณฑล
ลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ
เมืองกมุทาสัย เป็น ๑ ใน ๑๒ เมือง ขึ้นกับมณฑลฝ่ายเหนือ
พ.ศ. ๒๔๔๓
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อมณฑลฝ่าย
เหนือ
เป็นมณฑลอุดร และให้รวมเมืองต่างๆ ในมณฑลอุดร เป็น ๕ บริเวณ ได้แก่ บริเวณบ้านหมาก-แข้ง บริเวณธาตุพนม บริเวณสกลนคร บริเวณพาชี และบริเวณน้ำเหือง เมืองกมุทาสัย
ถูกรวมอยู่
ในบริเวณบ้านหมากแข้ง
ซึ่งประกอบด้วย ๗ เมือง คือ เมืองหมากแข้ง เมืองหนองคาย เมืองหนองหาร
เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทาสัย เมืองโพนพิสัย และเมืองรัตนวาปี
ตั้งที่ว่าการบริเวณบ้านหมากแข้ง โดยส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ
ออกไปเป็นข้าหลวงบริเวณควบคุมเจ้าเมืองต่างๆ ซึ่งมีข้าหลวงตรวจราชการประจำเมือง
ควบคุมอีกชั้นหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๔๙
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ
ให้เปลี่ยนชื่อเมืองกมุทาสัย
เป็นเมืองหนองบัวลุ่มภู หรือเมือง "หนองบัวลำภู"
หนองน้ำขนาดใหญ่กลางเมืองที่เดิมชื่อหนองซำช้างจึงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นหนองบัวลำภู
หรือ หนองบัวลำภูตามชื่อเมือง และยังคงขึ้นอยู่กับบริเวณหมากแข้ง
พ.ศ. ๒๔๕๐
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้
กระทรวงมหาดไทยรวมเมืองต่างๆ
ในบริเวณหมากแข้งตั้งเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองอุดรธานี ส่วนเมืองในสังกัดบริเวณให้มีฐานะเป็นอำเภอ
เมืองหนองบัวลำภู จึงกลายเป็น "อำเภอหนองบัวลำภู"
ขึ้นกับจังหวัดอุดรธานี โดยมีพระวิจารณ์กมุทธกิจ เป็นนายอำเภอคนแรก
อำเภอหนองบัวลำภู
มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาโดยลำดับ มีชุมชนราษฎรหนาแน่นขึ้น
ประกอบกับมีอาณาเขตกว้างขวาง
พื้นที่ประมาณ ๔,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ไม่สะดวกในการปกครอง
ดูแลราษฎร
ทางราชการจึงได้ยกฐานะชุมชนที่มีความเจริญแต่อยู่ห่างไกล
แยกการปกครองออกจากอำเภอหนองบัวลำภู จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ รวม ๕ กิ่งอำเภอ
ตามลำดับดังนี้
- กิ่งอำเภอโนนสัง (พ.ศ. ๒๔๙๑)
- กิ่งอำเภอศรีบุญเรือง (๑๖ กรกฎาคม ๒๕๐๘)
- กิ่งอำเภอนากลาง (๑๖ กรกฎาคม ๒๕๐๘)
- กิ่งอำเภอสุวรรณคูหา (๑๗ กรกฎาคม ๒๕๑๐)
ปัจจุบันกิ่งอำเภอเหล่านี้มีฐานะเป็นอำเภอ
เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการกระจายอำนาจมายังส่วนภูมิภาค
เพื่อประโยชน์ในด้าน
การปกครอง
การให้บริการของรัฐ การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
การส่งเสริมให้ท้องที่เจริญยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อความมั่นคงของชาติ
จึงได้พิจารณาเห็นว่าจังหวัดอุดรธานี มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก
สมควรแยกอำเภอหนองบัวลำภู อำเภอนากลาง อำเภอโนนสัง อำเภอศรีบุญเรือง
และอำเภอสุวรรณคูหา ออกจากการปกครองของจังหวัดอุดรธานี
ตั้งขึ้นกับจังหวัดหนองบัวลำภู โดยเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๖
คณะรัฐมนตีได้มีมติเห็นชอบให้หลักการจัดตั้งจังหวัดหนองบัวลำภู
ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
และต่อมาคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดหนองบัวลำภู
ตามร่างเสนอของนายเฉลิมพล สนิทวงศ์ชัย
และคณะแล้วประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัดหนองบัวลำภูตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖
โดยประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๑๑๐ ตอนที่ ๑๒๕ ลงวันที่ ๒
กันยายน ๒๕๓๖
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น